ไก่ชนออนไลน์
20 เมษายน 2567

เที่ยว เมืองน่าน มุมมองใหม่ ของคนชอบเที่ยว ในคอนเซ็ปต์ที่ว่าคนเที่ยวได้ความสุขใจ


แชร์

 

จะดีไม่น้อยหากสถานที่ท่องเที่ยวหรือชุมชนที่เราไปแวะเวียนเยี่ยมชม  สามารถดำรงอยู่ได้และมีรายได้ให้กับคนในพื้นที่หรือชุมชนนั้นๆ อย่างไม่จบสิ้น  ในคอนเซ็ปต์ที่ว่าคนเที่ยวได้ความสุขใจ เจ้าของพื้นที่ก็มีรายได้พร้อมกระจายต่อสู่ชุมชน หรือที่เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” ให้จังหวัดน่านเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากกว่าเดิม พร้อมทั้งส่งเสริมผ้าไทย(ผ้าซิ่นผ้าทอ) ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและเชิงสร้างสรรค์

อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาส่งเสริมและผลักดันสถานทีท่องเที่ยวธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักและน่าท่องเที่ยวมากขึ้น  หลังจากได้รับโจทย์พิเศษสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่พิเศษทั้ง 6 แห่ง (หมู่เกาะช้าง  เลย  เมืองเก่าน่าน  เมืองเก่าโบราณอู่ทอง  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และ เมืองพัทยา)

ดังนั้น อพท.จึงนำเอาคอนเซ็ปต์ “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติว่าสามารถช่วยทำให้สังคมหรือชุมชนนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน มาใช้กับจังหวัดน่าน  ด้วยการหยิบจุดเด่นของเมืองน่าน อันได้แก่  การทอผ้า ที่มีอัตลักษณ์เด่นชัด และมีโอกาสเติบโตในแง่ธุรกิจได้มากที่สุด

“เหตุผลการเลือกผลักดัน “ผ้าทอ” ให้กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมของจังหวัดน่าน ก็เพราะว่า  การทอผ้าเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาวไทยที่สืบทอดกับมายาวนาน  แต่อาจจะสูญหายไปตามกาลเวลา  เพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักและตระหนักถึงคุณค่าวัฒนธรรมอันล้ำค่าเหล่านี้  อีกทั้งยังสามารถต่อยอดให้กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมได้อีกด้วย สร้างความยั่งยืน และ สามารถช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมของเขาเองต่อได้  เช่น  นำฝ้ายมาทอผ้า  ถ้าเราผลักดันให้มีกิจกรรมปลูกฝ้ายเพิ่มขึ้น  เราจะได้ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลผลิตมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของเขาด้วย  ทั้งหมดก็จะเป็นการกระจายได้คืนสู่สังคมของพวกเขาเอง”  ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ อพท.กล่าว

“ผ้าฝ้ายก็คือฝ้าย  ดนตรีก็คือดนตรี  ต้องมีการเล่าประวัติให้เห็นภาพและเข้าใจ ลายผ้าบ่งบอกอะไร อีกนัยนึง คือ Storytelling จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับสถานที่หรือสินค้า คนมาก็เข้าใจสถานที่หรือสินค้าและทำให้อยากซื้อไปใช้ไปฝากคนที่บ้าน  นี่คือหน้าที่ของ อพท. เมื่อคุณมาท่องเที่ยวแล้วได้อะไร มากกว่าแค่ถ่ายรูปแล้วกลับ”

 

การช่วยเหลือให้กับกลุ่มทอผ้า  คือ  การอบรมหรือแนะนำต่อยอด “ผ้าทอ” ของเขาที่มีชื่อเสียงและมีอัตลักษณ์ที่แข็งแรง ให้มีความทันสมัยมากและเหมาะกับยุคปัจจุบันมากชึ้น  เช่น  เพิ่มเทคนิคการย้อมสีให้ติดทนกว่าเดิม  การเข้าใจเรื่องการตลาดปัจจุบัน เข้าใจความต้องการผู้บริโภค การสื่อสารอย่าง Storytelling หรือแม้กระทั่งการทำป้ายสื่อความหมาย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหรือสถานที่นั้นๆ เป็นต้น

เราจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวที่ลึกซึ้ง สร้างสรรค์ และมีคุณภาพมากกว่าเดิม  จากการเที่ยวถ่ายรูปเช็คอินธรรมดา แต่จะได้ลงมือทำจริง และมีประสบการณ์ตรงกับสถานที่นั่นๆ ตัวอย่างเช่น “ผ้าทอ” จะได้รับความรู้ขั้นตอนการปั่นฝ้าย  การทอ  การย้อมสี และมีโอกาสได้ทำจริงๆ รวมไปถึงนำกลับไปใช้เองอีกด้วย

ชุมชนดำเนินชีวิตตามสไตล์ชุมชน  แต่ใส่วิธีคิดแบบการตลาดหรือนักธุรกิจ พอเมื่อประสบความสำเร็จแล้วพวกเขาก็กลับมาช่วยเหลือสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม  และที่สำคัญนักธุรกิจต้องมีหัวใจที่เพื่อสังคมมันจะคือคำตอบ  จะรวยคนเดียวโลกก็ถืงเป็นแบบนี้  แต่ถ้ารวยแล้วแบ่งบันต่อก็น่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้ธุรกิยั่งยืน

 

1.โฮงเจ้าฟองคำ

บ้านโบราณสไตล์ล้านนา อายุกว่า 100 ปี เป็นเรือนอยู่อาศัยของเจ้าเมืองนครน่านในอดีต เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง แบ่งเป็น 5 ห้องหลัก คือ ห้องนอน 3 ห้อง ยุ้งข้าวและห้องครัว ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น โดยยุ้งฉางถูกแปรสภาพเป็นห้องจัดแสดงของวัตถุโบราณเมืองน่าน ซึ่งเจ้าของบ้านเก็บสะสมสืบต่อกันมา ส่วนห้องพักและห้องครัวได้รับการบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้เพื่อจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต โฮงเจ้าฟองคำได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555

นอกจากนี้โฮงเจ้าฟองคำยังจัดแสดงภูมิปัญญาและงานฝีมือเมืองน่านอย่างการทอผ้าและการปักผ้าแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้

 

 

2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง

เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2517 เดิมชาวบ้านทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น โดยมีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 25 คน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 40 คน

ลายเอกลักษณ์ของชุมชน คือ ลายบ่อสวก ซึ่งเป็นรูปไหดินเผาที่ขุดพบในพื้นที่ตำบลบ่อสวก ได้รับรางวัลระดับ 4 ดาว และลายคำเคิ้บ หรือฝ้ายเคลือบทอง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระดาษสาเคลือบทองแทน ซึ่งได้รับรางวัลระดับ 5 ดาว

การบริหารจัดการภายในกลุ่ม จะมีทั้งการรับซื้อผ้าจากสมาชิกและการฝากขาย โดยประเมินจากความซับซ้อนของลวดลายและขนาดของผ้าทอ รายได้ที่เกิดขึ้นหลักหักค่าวัตถุดิบและค่าบำรุงกลุ่มแล้ว จะคืนให้กับผู้ทอ

สินค้าเป็นผ้าชิ้น ผ้าพันคอ ผ้าถุงและผ้าเช็ดหน้า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มศึกษาดูงาน นักท่องเที่ยว กลุ่มข้าราชการที่สวมใส่ผ้าไทย ร้านค้าในกรุงเทพฯ และการขายผ่าน facebook ส่วนตัวของสมาชิก นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชนใกล้เคียงในตำบลบ่อสวก คือ บ้านซาวหลวง บ้านนาปงพัฒนา บ้านป่าฝางสามัคคี และบ้านนามน

ปัจจุบันกลุ่มใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ามาผสมผสานด้วย โดยมีการจัดกิจกรรม Workshop การปั่น ตี อด ย้อมสี และทอฝ้าย บริการอาหารพื้นบ้านในลักษณะขันโตกและบ้านพักโฮมสเตย์

 

3.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา

ในอดีตชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงมักจะตัดผ้าถุงพื้นเมืองไว้สวมใส่ในงานเทศกาลต่างๆ อยู่แล้ว ต่อมาผู้หญิงในชุมชนที่มองเห็นโอกาสจากภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนและต้องการสร้างรายได้เสริมจากการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน จึงร่วมกันก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2545

การบริหารจัดการภายในกลุ่มใช้ระบบใกล้เคียงกับบ้านซาวหลวง คือมีทั้งการรับซื้อผ้าจากสมาชิกและการฝากขาย รายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าวัตถุดิบและหักเข้ากลุ่มแล้ว จะจ่ายคืนแก่ผู้ผลิตเช่นกัน

ลายเอกลักษณ์ของกลุ่มคือ ลายดาวล้อมเดือน ซึ่งในสมัยก่อนผู้หญิงจะนั่งทอผ้าแกะลายอยู่ในบ้าน เมื่อทอผ้าก็จะมีเสียงกี่กระทบ ผู้ชายก็จะทราบว่ามีหญิงสาวอยู่และมาห้อมล้อม กลายเป็นที่มาของลายดาวล้อมเดือน ซึ่งได้รับรางวัลระดับ 5 ดาว

ช่องทางการจำหน่ายสินค้า มีทั้งจากขายผ่านร้าน OTOP กลุ่มศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว รวมถึงการออกงานแสดงสินค้าตามสถานที่ต่างๆ

 

4กลุ่มทอผ้ามหาโพธิ

ชุมชนบ้านมหาโพธิ ต้นแบบของชุมชนน่าอยู่ เน้นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภายในชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นเพื่อมุ่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในแขนงต่างๆ เช่น การฟ้อนแง้น รำวงมะเก่า การประดิษฐ์พระไม้ การทอผ้า เป็นต้น

กลุ่มทอผ้าเองจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไว้ ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าเปิดพื้นที่สำหรับการสาทิตและสอนวิธีการทอผ้าให้กับผู้ที่สนใจ รวมถึงเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้ลดลองทำจริง โดยรายได้ที่เกิดขึ้นของแต่ละกลุ่มจะมีการแบ่งเข้ากองกลางเพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนและดูแลสวัสดิการของสมาชิก

ได้เวลาเที่ยวอย่างมีคุณภาพ และ สร้างสรรค์  พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

 

 FYI:  

กิจการเพื่อสังคม คืออะไร ?

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ให้จำกัดความและที่มาของ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไว้ว่า ธุรกิจที่เป็นได้ทั้งประเภทที่หากำไรและไม่หากำไร ยึดถือการตอบแทนประโยชน์สู่สังคมเป็นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise หรือ S.E. นั้นจะเน้นด้านการกระจายรายได้สู่หน่วยผลิตในกลุ่มสังคม คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ความเป็นธรรม การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (Sharing) และการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้และวิทยาการในมวลหมู่สมาชิก และเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Innovation) เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการลดต้นทุนการผลิตและใช้ทรัพยากรการผลิตต่างๆให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ธุรกิจในมุมมองของ Social Enterprise จะ มองที่คุณค่าในตัวมนุษย์แต่ละคนมากกว่าฐานะรายได้ ศักยภาพในการผลิตของมนุษย์แต่ละคนจะถูกนำออกมาใช้งานในฐานะผู้เป็นเจ้าของ หน่วยผลิตของสังคม ดังนั้นในบางครั้งจึงมีการใช้คำว่า Social Entrepreneur เพื่อสื่อความหมายของลักษณะธุรกิจของ Social Enterprise ให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นSocial Enterprise ไม่ ได้เป็นแนวคิดที่เพิ่งใหม่ในประเทศไทย หากแต่เป็นการเอาแนวคิดระบบเศรษฐกิจในรูปแบบสหกรณ์ตามโครงการพระราชดำริมา ประยุกต์ให้เข้ากับการบริหารธุรกิจเอกชนทั้งในส่วนที่หากำไรและไม่หากำไร ยึดแนวทางด้านการพัฒนาสังคมซึ่งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมเป็นหลักในการ ดำเนินธุรกิจ

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 (ค.ศ.2005) เป็นต้นมา ได้มีการตั้งคำถามกันโดยทั่วไปถึงทางรอดจากระบบการค้าที่ใช้ทุนเข้าหั่นกัน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมดุลย์ รวมถึงระบบสังคมที่เสื่อมถอยลง คำถามเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย คำถามเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษและกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น และเป็นที่น่าชื่นชมว่าคำถามดังกล่าวนั้นได้มีการค้นหาคำตอบกันอย่างแพร่ หลายทั้งในระดับสถาบันการศึกษาและกลุ่มธุรกิจเอกชน องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมถึงภาครัฐบาลในประเทศนั้นๆ และหนึ่งในกระบวนการค้นหาคำตอบที่สำคัญคือการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย คำว่า Self Efficiency หรือ การพึ่งพาตนเองตามแนวทางพระราชดำรินั้นจึงได้เข้ามาเป็นหลักสำคัญในการสร้าง เศรษฐกิจที่โตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการนำกลไกลทางสังคมเข้ามาเป็นส่วน สำคัญในการผลักดันรูปแบบระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคตซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Social Enterprise

 

สนใจเข้าเยี่ยมชมกิจการทอผ้าติดต่อ อพท.เมืองน่าน โทร.  054-771-077   email ; dastanan@dasta.or.th / dasta.nan@gmail.com  https://www.brandbuffet.in.th/2017/07/social-enterprise-nan-city-weaving/


Tag :

เที่ยวเมืองน่าน, เที่ยว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

รับข่าวสารเพิ่มเติม