ข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับ “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง” ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ (ควาย) แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถอาชีพที่เกี่ยวเนื่องในภาคปศุสัตว์ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ อีกอย่างเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ
โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงรายละเอียดโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ มีดังต่อไปนี้
1. โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุนจำนวน 40,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวมโคขุนอย่างน้อย 200,000 ตัว สร้างหรือพัฒนาคอกกลางรวบรวมโคขุน 200 แห่ง (สัดส่วนประมาณ 500/คอก) ในพื้นที่ทั่วประเทศ และคอกกักเพื่อการส่งออก จำนวน 20 แห่ง (รองรับโคขุนประมาณ 1,000 ตัว/คอก) ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพให้กับเกษตรกร
2. โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ เกษตรกรเป้าหมาย 4,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวม 20,000 ตัว
3. โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ เกษตรกรเป้าหมาย 1,000 รายๆ ละ 21 ตัว รวม 21,000 ตัว
4. โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง เกษตรกรเป้าหมาย 294 ราย ผลิตไก่พื้นเมืองขุน 264,000 ตัว/ปี
5. กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า (Logistics) เป็นต้น
ส่วนคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน มีความพร้อมในการจัดเตรียมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม จัดหาอาหารสัตว์ให้กินอย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตเต็มที่อย่างมีศักยภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการจัดซื้อจัดหาพันธุ์สัตว์และปัจจัยการผลิตตามโครงการด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) สนับสนุนสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPL นั้นสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยติดต่อที่ ธ.ก.ส. เพื่อให้ความช่วยเหลือในการแบ่งผ่อนตามระเบียบต่อไป
“ขณะนี้ได้ประชุมทำความเข้าใจกับปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว เพื่อสำรวจความต้องการกลุ่มที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้มอบนโยบายให้ทดลองเลี้ยงโคเนื้อที่ จ.สุพรรณบุรี ใช้เวลาเลี้ยง 117 วัน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 200 กก. ซึ่งสามารถขายได้ กก.ละ 100 บาท จึงมั่นใจว่าหากเกษตรกรมีความตั้งใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ อาทิ แพะ ไก่พื้นเมือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ รมช.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้ส่งเสริมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพิ่มจำนวนหมูเพื่อส่งออกไปจีน เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร ทำให้ต่างประเทศมั่นใจในความปลอดภัย” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว